วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ
การเช่าทรัพย์สินนั้นจะต้องประกอบไปด้วยบุคคล 2 ฝ่าย ได้แก่
            ผู้ให้เช่า: ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้เช่า ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด
            ผู้เช่า: ตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น
มาตรา 538 “เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเข้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี”
มาตรา 538 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การทำสัญญาเช่าไว้ โดยกำหนดหลักฐานที่จะต้องทำไว้ 2 ประการ คือ
1) สำหรับการเช่าไม่เกิน 3 ปี ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายเมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด
2) สำหรับการเช่าเกิน 3 ปี หรือการเช่าตลอดอายุผู้เช่าหรือผู้ให้เช่า ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
แต่ถ้าการเช่าทำเป็นหนังสืออย่างเดียว สัญญาเช่าจะฟ้องร้องบังคับคดีได้เพียง 3 ปี ถ้าสัญญาเช่าตกลงด้วยวาจาจะฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้ แต่สัญญาไม่ตกเป็นโมฆะ
คำมั่นจะให้เช่า เนื่องจากบางครั้งผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่า เช่าอสังหาริมทรัพย์มีกำหนดเวลา 3 ปี และในสัญญาเช่านั้นมีข้อความกำหนดว่า “ผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่า เช่าต่อไปอีก 3 ปี ถ้าผู้เช่าต้องการ” จะเห็นได้ว่าสัญญาเช่านี้มีระยะเวลาเพียง 3 ปี มิใช่ 6 ปี จึงไม่ต้องจดทะเบียนตามมาตรา 538 ข้อกำหนดที่ว่าผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่า เช่าต่อไปอีก 3 ปี ถ้าผู้เช่าต้องการนี้เป็น คำมั่นจะให้เช่า ซึ่งเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวและผูกพันผู้ให้เช่าฝ่ายเดียวเท่านั้น นั่นคือ ถ้าหากผู้เช่าไม่ต้องการจะเช่าต่อไปก็เพียงแต่ไม่แสดงเจตนาขอเช่าตามคำมั่น ซึ่งผู้ให้เช่าจะฟ้องบังคับให้ผู้เช่าจำต้องเช่าต่อไปไม่ได้ เพราะคำมั่นไม่ผูกพันผู้เช่าแต่อย่างใด
ถ้าผู้เช่าต้องการจะเช่าต่อไป ผู้เช่าจะต้องแสดงความจำนงขอปฏิบัติตามคำมั่นเสียก่อนครบกำหนดอายุสัญญาเดิม หากมาแสดงภายหลังจากสัญญาเช่าหมดกำหนดแล้ว คำมั่นของผู้ให้เช่าก็สิ้นผลไป ไม่กอให้เกิดสัญญาเช่าต่อกันตามคำมั่นนั้น
คำมั่นเมื่อให้ไว้แล้วจะถอนก่อนสัญญาเช่าครบกำหนดไม่ได้ คำมั่นจะสิ้นผลไปเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่า โดยที่ผู้เช่าไม่สนองรับคำมั่น และเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ให้เช่า (มาตรา 569) คำมั่นไม่ผู้พันผู้รับโอน แต่คำมั่นตกทอดไปยังทายาทของผู้ให้เช่า ถ้าผู้ให้เช่าตายก่อนผู้เช่าสนองรับคำมั่น
หมายเหตุ การเช่าทรัพย์สินนั้น ปกติฝ่ายผู้ให้เช่าย่อมเพ่งเล็งถึงคุณสมบัติของผู้เช่าว่าจะสมควรได้รับความไว้วางใจในการใช้ทรัพย์ที่เช่า และในการดูแลรักษาทรัพย์ที่เช่าหรือไม่ ฉะนั้น สิทธิของผู้เช่าจึงมีสภาพเป็นการเฉพาะตัว เมื่อผู้เช่าตายสัญญาเช่าก็เป็นอันระงับไม่ตกทอดไปถึงทายาท ถ้าสัญญาเช่าไม่ได้กำหนดไว้ชัดแจ้งว่ามีกำหนดตลอดชีวิตผู้ให้เช่า เมื่อผู้ให้เช่าตายสัญญาเช่าไม่ระงับ ทายาทของผู้ให้เช่าสืบสิทธิผู้ให้เช่าตามกฎหมายมรดก
มาตรา 569 “อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับสิ้นไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า
ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย”
การโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ไม่ทำให้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ระงับ ผู้รับโอนย่อมรับไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่า
1) เฉพาะสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์เท่านั้นที่ไม่ระงับ แต่ถ้าเป็นสัญญาอื่นหรือไม่ใช่สัญญาเช่าย่อมระงับไม่ผูกพันผู้รับโอน
2) ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ย่อมรับไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่า คือ ผู้โอนกรรมสิทธิ์มีสิทธิและหน้าที่อย่างไร ก็ย่อมโอนไปยังผู้รับโอนเพียงนั้น
3) สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ต้องทำให้ถูกต้องตาม มาตรา 538

ผู้เช่ามีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่า
มาตร 560 “ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึ่งส่งเป็นรายเดือน หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน”
ผลของการไม่ชำระค่าเช่า ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่ามีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาได้ตาม มาตรา 560 ซึ่งแบ่งเป็น
1) บอกเลิกสัญญาได้ทันที ถ้ากำหนดชำระค่าเช่าต่ำกว่ารายเดือน เช่น ตกลงชำระค่าเช่าสัปดาห์ละครั้ง ทุกๆ วันอาทิตย์ ถ้าผู้เช่าไม่ชำระ ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาในวันจันทร์ได้เลย โดยไม่ต้องทวงถามค่าเช่าก่อน
2) บอกเลิกสัญญาทันทียังไม่ได้ ถ้ากำหนดชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนหรือมากกว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวให้เอาค่าเช่ามาชำระก่อนโดยให้เวลาอย่างน้อย 15 วัน ถ้าผู้เช่ายังไม่ชำระค่าเช่าจึงบอกเลิกสัญญาได้
สัญญาเช่าซื้อระงับเมื่อผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาตาม มาตรา 574
มาตรา 574 “ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆ กัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สิน และเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย
อนึ่ง ในกรณีกระทำผิดสัญญาเพราะผิดนัดไม่ใช้เงินซึ่งเป็นคราวที่สุดนั้น ท่านว่าเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะริบบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนและกลับเข้าครองทรัพย์สินได้ต่อเมื่อระยะเวลาใช้เงินได้พ้นกำหนดไปอีกงวดหนึ่ง”
1) ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเพราะผู้เช่าซื้อกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน
- การกระทำผิดของผู้เช่าซื้อมีลักษณะเป็นการผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เช่น ผู้เช่าซื้อกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าซื้อ
- มีข้อตกลงพิเศษว่าการกระทำผิดสัญญาข้อใดข้อหนึ่งเป็นการกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ
2) ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเพราะผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงิน 2 คราวติดกัน ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที ไม่ต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อมาชำระหนี้ก่อนหรือไม่ต้องบอกกล่าวเหมือนมาตรา 560
3) ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเพราะผู้เช่าซื้อผิดนัดคราวที่สุด
- การผิดนัดคราวที่สุดคือ การผิดนัดงวดสุดท้าย
- ผู้ใช้เช่าซื้อต้องรอไปอีก 1 งวด
4) ผลของการบอกเลิกสัญญา
- ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิกลับเข้าครอบครองทรัพย์สิน โดยผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิยึดทรัพย์สินกลับคืนโดยไม่ตองฟ้องให้ผู้เช่าซื้อส่งมอบ
- ริบเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน
แต่ถ้าหากผู้ให้เช่าซื้อไม่สามารถกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินได้ เพราะผู้เช่าซื้อไม่ยอมคืนให้ ผู้ให้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิได้ค่าเช่าซื้อทั้งหมดและค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระด้วย

ความระงับของสัญญาจ้างแรงงาน
            สัญญาจ้างแรงงานระงับลงด้วยกรณี ดังนี้ คือ
1. สัญญาจ้างแรงงานที่มีกำหนดเวลา ย่อมระงับลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยมิต้องบอกกล่าว
2. สัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดเวลา ย่อมระงับลงเมื่อคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญา สัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดเวลานั้นเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ
- คู่สัญญามิได้กำหนดเวลาแต่เริ่มแรกไว้ว่าจะจ้างกันนานเท่าใด
- คู่สัญญาได้กำหนดเวลาไว้แต่แรก เมื่อครบกำหนดแล้ว ลูกจ้างยังคงทำงานต่อไปอีก และนายจ้างรู้ดังนี้ก็มิได้ทักท้วง ซึ่งกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาจ้างอันใหม่ โดยความอย่างเดียวกับสัญญาเดิม
มาตรา 582 “ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน
อนึ่ง ในเมื่อบอกกล่าวดังว่านี้ นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่ต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้”

ข้อ 1    เช่าทรัพย์ มาตรา 538 + ค่ำมั่นจะให้เช่า + 569
ข้อ 2    (ก) มาตรา 560 (เช่าทรัพย์)
          (ข) มาตรา 574 (เช่าซื้อ)
ข้อ 3    จ้างแรงงาน มาตรา 582

ลองทำดู
            1. แดงได้ทำสัญญาเช่าบ้านจากดำหลังหนึ่งโดยทำสัญญาเป็นหนังสือไม่ได้จดทะเบียนการเช่า สัญญาเช่าฉบับนี้ตกลงเช่ามีกำหนดเวลาตลอดอายุของผู้ให้เช่า ดังนี้
            ก. สัญญาเช่าฉบับนี้ใช้บังคับได้กี่ปี
            ข. เช่ามาได้เพียง 1 เดือน แดงผู้เช่าตาย สัญญาเช่าระงับหรือไม่เพราะเหตุใด
            2. นายแดงได้เช่าตกแถวจากนายดำมีกำหนด 10 ปี โดยทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นายแดงอยู่ในตึกแถวนี้ได้เพียง 5 ปี นายแดงถึงแก่ความตาย นางเหลืองภรรยาจะมีสิทธิอยู่ในตึกแถวต่อไปจนครบ 10 ปี ตามสัญญาเช่าได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
            3. ผู้ให้เช่าและผู้เช่าทำสัญญาเช่าตึกแถวและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน มีกำหนดเวลา 5 ปี เมื่อทำสัญญาดังกล่าวแล้ว 1 ปี จึงทำสัญญากันเองเป็นหนังสือเช่ากัน 3 ปี นับแต่วันสิ้นสัญญาที่ทำต่อเจ้าพนักงานนั้น ถามว่าสัญญาที่ทำกันเองอีก 3 ปี จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
            4. นายแดงตกลงเช่าตึกแถวจากนายดำด้วยวาจามีกำหนด 5 ปี นายดำได้ส่งมอบตึกให้นายแดงครอบครองและใช้ประโยชน์ได้เพียง 1 ปี นายดำก็นำตึกแถวดังกล่าวไปจดทะเบียนขายให้แก่นายเขียนเป็นที่เรียบร้อย นายเขียวไม่ยอมรับรู้สัญญาเช่าที่นายแดงทำกับนายดำ และฟ้องขับไล่นายแดงทันที ถ้านายแดงมาปรึกษาท่านว่า สัญญาเช่านี้ยังมีผลต่อไปหรือไม่เพียงใด ท่านจะให้คำแนะนำนายแดงอย่างไร
            5. นายแดงให้นายดำเช่าตึกแถวมีกำหนด 10 ปี โดยทำสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ ในสัญญาเช่าดังกล่าวมีข้อกำหนดว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว ผู้เช่ามีสิทธิที่จะเช่าต่อไปได้อีก 3 ปี ในอัตราค่าเช่าสองเท่าของสัญญาเดิม เมื่อปฏิบัติตามสัญญาเช่ากันได้ 3 ปี นายแดงได้ขายตึกแถวนี้ให้แก่นายเขียว
            ก. ถ้านายเขียวไม่ยอมให้นายดำเช่าต่อไปจนครบ 10 ปี หรือ
            ข. นายเขียวให้นายดำเช่าตึกแถวจนครบ 10 ปี แต่เมื่อนายดำใช้สิทธิตามคำมั่น นายเขียวไม่ยอมต่อสัญญาเช่าให้
            ถ้าท่านเป็นนายดำท่านจะปฏิบัติอย่างไร เพราะเหตุใด
            6. นายมั่นเช่าแพจากนายแสงเพื่ออยู่อาศัยเป็นเวลา 3 ปี คิดค่าเช่าเป็นรายเดือนๆ ละ 800 บาท แต่การเช่ามิได้ทำเป็นหนังสือ ทุกเดือนที่นายมั่นชำระค่าเช่า นายแสงก็ออกใบเสร็จรับเงินค่าเช่าลงชื่อนายแสงทุกครั้ง เช่ากันมาได้ 1 ปี นายมั่นผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า 3 เดือน ติดๆ กัน นายแสงจึงบอกเลิกสัญญาเช่าไปทันที และต่อมาจากนั้นเพียง 10 วัน ก็ฟ้องขับไล่นายมั่น พร้อมทั้งเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระ นายมั่นต่อสู้ว่าบอกเลิกการเช่าไม่ชอบ และจะเรียนค่าเช่าก็ไม่ได้เพราะไม่ได้ทำสัญญาเช่ากันเป็นหนังสือ ข้อต่อสู้ของนายมั่นจะฟังขึ้นหรือไม่
            7. นายจนได้ตกลงด้วยวาจาเช่ารถยนต์จากนายรวยมีกำหนด 4 เดือน โดยตกลงชำระค่าเช่าทุกๆ วันสิ้นเดือน เดือนละ 10,000 บาท ถ้าหากว่า
            ก. นายจนเช่ารถยนต์มาได้เพียง 1 เดือน นายรวยเกิดยากจนลงจึงขายรถยนต์ให้นายมีไป นายมีไม่ยอมให้นายจนเช่าจนครบ 4 เดือน และได้เรียกรถยนต์คืนจากนายจนทันที การกระทำของนายมีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
            ข. ถ้าข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสัญญาเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื่อระหว่างนายจนกับนายรวยจะมีผลประการใด
            8. ถ้าผู้ให้เช่าโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้เช่าไปยังบุคคลที่สาม ผลจะเป็นอย่างไร
            9. แดงได้ทำสัญญาเช่าบ้านจากดำหลังหนึ่ง ตำลงชำระค่าเช่าทุกๆ วันสิ้นเดือนๆ ละ 2,000 บาท โดยตกลงให้ดำไปเก็บค่าเช่าเองและมีข้อตกลงอีกว่าถ้าแดงไม่ชำระค่าเช่าให้ดำบอกเลิกสัญญาได้ทันที ดำไปเก็บค่าเช่าจากแดงทุกเดือน แต่วันที่ 31 สิงหาคม 2529 ดำเดินทางไปต่างประเทศจึงไม่ได้เดินทางไปเก็บค่าเช่า เมื่อดำกลับจากต่างประเทศในวันที่ 15 กันยายน 2529 ดำเห็นว่าแดงยังไม่ชำระค่าเช่า ดำจึงบอกเลิกสัญญาเช่าในวันที่ 16 กันยายน 2529 ดังนั้นข้อตกลงให้บอกเลิกสัญญาทันทีใช้ได้เพียงใดและการบอกเลิกสัญญาของดำชอบหรือไม่เพราะเหตุใด
            10. แดงให้ดำเช่าตึกแถว 1 คูหา มีกำหนดเวลา 15 ปี โดยทำสัญญากันเอง เมื่อปฏิบัติตามสัญญาเช่ากันมาได้ 3 ปี แดงได้ขายตึกแถวนี้แก่เหลือง เหลืองฟ้องขับไล่ดำ ดำต่อสู้ว่าสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ไม่ระงับสิ้นไป เพราะการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า เหลืองจะต้องให้ดำเช่าต่อไปอีกจนครบ 15 ปี ถามว่าข้อต่อสู้ของดำฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
            11. (ก) เขียวได้ทำสัญญาเช่าซื้อบ้านจากขาว กำหนดชำระค่าเช่าซื้อทุกๆ วันสิ้นเดือน เขียวผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อสำหรับเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน ในวันที่ 1 กรกฎาคม ขาวจึงเข้าครอบครองบ้านหลังนี้ทันที โดยไม่บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแต่อย่างใด การกระทำของขาวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
            (ข) ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ (ก) เป็นสัญญาเช่าทรัพย์และปรากฏว่าในวันที่ 1 กรกฎาคม นั้น ขาวได้บอกเลิกสัญญาแล้ว แต่ขาวยอมให้เขียวอยู่ในบ้านได้อีก 15 วัน เพื่อให้เขียวเตรียมตัวขนของออกจากบ้าน ดังนี้ การบอกเลิกสัญญาเช่าของขาวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
            12. (ก) นายเขียวทำสัญญาเช่าเรือนจากนายดำมีกำหนด 3 ปี โดยกำหนดค่าเช่าเดือนละ 1,000 บาท กำหนดชำระค่าเช่าทุกวันที่ 5 ของเดือน นายเขียวผิดนัดชำระค่าเช่าสำหรับวันที่ 5 กรกฎาคม และ 5 สิงหาคม นายดำบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม และฟ้องให้ส่งมอบเรือนคืนเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม นายเขียวต่อสู้ว่าการบอกเลิกสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง ท่านเป็นศาลจะพิพากษาว่าอย่างไร
            (ข) ถ้ากรณีตามข้อ ก เป็นสัญญาเช่าซื้อ ท่านจะพิพากษาว่าอย่างไร
            13. (ก) สีเช่าซื้อรถจักรยานยนต์จากสา โดยมีสัญญาเช่าซื้อเป็นหนังสือ ซึ่งกำหนดชำระค่าเช่าซื้อทุกวันที่ 10 ของเดือน สีผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อเดือนมีนาคม และเมษายน สาจึงบอกเลิกสัญญาในวันที่ 11 เมษายน สีโต้แย้งว่า การบอกเลิกสัญญาดังกล่าวไม่มีผลบังคับเพราะสามิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สามิได้บอกกล่าวล่วงหน้าก่อน ถามว่าข้อต่อสู้ของสีฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
            (ข) ถ้าข้อเท็จจริงตาม (ก) ปรากฏว่าเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ คำตอบของท่านจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หรือไม่ เพราะเหตุใด
            14. ใหญ่ทำสัญญาเช่ารถจักรยานยนต์จากเล็กคันหนึ่งมีกำหนดเวลา 12 เดือน โดยตกลงชำระค่าเช่าทุกๆ สิ้นเดือน เดือนละ 500 บาท ปรากฏว่า ใหญ่ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าเดือนที่ 6 และเดือนที่ 8 เล็กเห็นว่าใหญ่ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าเป็นเวลา 2 เดือน จึงบอกเลิกสัญญาเช่าทันที ดังนี้เล็กได้บอกเลิกสัญญาเช่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
            ถ้าข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นสัญญาเช่าซื้อ คำตอบของท่านจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ เพราะเหตุใด
            15. นายมีเช่าซื้อรถยนต์จากนายมา ตำลงชำระค่าเช่ากัน 10 งวด ปรากฏว่า นายมีผิดนัดไม่ได้ใช้เงินในงวดที่ 9 และงวดที่ 10 ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย ดังนี้ นายมาจะบอกเลิกสัญญาได้ทันทีหรือไม่ เพราะเหตุใด